โลกของเราไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยการทำงานแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะการพักผ่อนก็สำคัญต่อชีวิตของมนุษย์อย่างยิ่งยวด และการพักผ่อนก็เป็นหนึ่งในมิติการขับเคลื่อนโลกของเราไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง TAT Academy จะพามาทำความรู้จักกับ “Vacation Economy” หรือ เศรษฐกิจที่ว่าด้วยการพักผ่อนในยุค 4.0 จะมีอะไรบ้าง มาร่วมหาคำตอบไปพร้อมกัน
ปัจจุบันนี้ โลกของเรากำลังอยู่ในวิกฤติซ้อนวิกฤติ หรือ ‘Crisis Jeopardy’ จากปัญหาภาวะโลกเดือดที่กำลังทวีคูณความรุนแรงเพิ่มขึ้นทุกปี ส่งผลให้สภาพอากาศแปรปรวน สิ่งแวดล้อมได้รับผลกระทบในเชิงลบ แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติเสื่อมโทรม ทับซ้อนกันอีกหลายปัญหา เช่น ภัยแล้ง ความยากจน เศรษฐกิจชะลอตัว เป็นต้น อย่างไรก็ตาม โจทย์ปัญหาเหล่านี้ ก็ยังสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวหรือผู้ที่เกี่ยวข้องได้ด้วยเช่นกัน ท่ามกลางวิกฤติโลกและพฤติกรรมท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป เรามองเห็นเทรนด์อะไร และเทรนด์เหล่านี้จะสร้างโอกาสอะไรให้แก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยว
แน่นอนว่าเราคงคุ้นเคยกับคำว่า Vacation เป็นอย่างดี ซึ่งมีความหมายว่า ‘วันหยุด’ นั่นเอง และคำว่าวันหยุดนี้ก็มีความเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวอย่างมีนัยยะสำคัญ เพราะวันหยุดเป็นช่วงเวลาที่ให้ผู้คนได้ใช้เวลาว่างในการทำกิจกรรมต่าง ๆ บ้างก็พักผ่อนอยู่ที่บ้าน บ้างก็เลือกออกไปท่องเที่ยวเพื่อค้นหาประสบการณ์ใหม่ ๆ แต่รู้หรือไม่ว่า ปัจจุบัน คำว่า Vacation จะไม่ได้เป็นเพียง Vacation ธรรมดา ๆ อีกต่อไป
ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเองได้มีการนำเอาคำว่า ‘Vacation’ มาผสมผสานกับคำศัพท์เกี่ยวกับการท่องเที่ยวต่าง ๆ จนเกิดเป็นชื่อเทรนด์ท่องเที่ยวใหม่ ๆ เช่น ‘Workation’ มาจากคำว่า Work ผสมกับคำว่า Vacation หมายถึงการท่องเที่ยวแบบ ‘เที่ยวไปทำงานไป’ เทรนด์นี้เกิดมาจากการที่เส้นกั้นระหว่างการทำงานและการพักผ่อนค่อย ๆ ทลายลงและหลอมรวมกัน ผู้คนนิยมหันมาทำงานพร้อมกับท่องเที่ยวไปด้วย อีกตัวอย่างตัวอย่างหนึ่งของศัพท์เทรนด์ท่องเที่ยวที่ต่อท้ายด้วย -cation ที่เรามักได้ยินบ่อย ๆ คือ ‘Staycation’ ที่มีความหมายคล้ายคลึงกัน หมายถึงการท่องเที่ยว หรือคำว่า ‘Wellcation’ ที่มาจากคำว่า Wellness บวกกับ Vacation หมายถึงการท่องเที่ยวที่บวกกับการดูแลรักษาสุขภาพไปด้วย
นอกจากนี้ก็ยังมี ‘Temperacation’ เที่ยวเพื่อหาอุณหภูมิที่ใช่ อากาศที่ชอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคของโลกเดือดที่สภาพอากาศแปรปรวน ร้อนก็ร้อนสุดขั้ว หนาวก็หนาวจับใจ อีกทั้งยังมีการเข้ามาของ AI (ปัญญาประดิษฐ์) ที่ช่วยในการพยากรณ์สภาพอากาศได้แม่นยำมากขึ้น จนในที่สุดก็เกิดเป็นเทรนด์ท่องเที่ยวที่มีปัจจัยเกี่ยวกับสภาพอากาศเป็นหลัก ได้แก่ ‘Coolcation’ ที่คนไทยอาจคุ้นเคยกันดี หมายถึง การท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวต้องการหลีกหนีจากอากาศร้อนสุดขั้วในช่วงฤดูร้อน หลั่งไหลเข้าสู่ประเทศที่มีภูมิอากาศหนาวเพื่อสัมผัสอากาศเย็นสบาย เช่น ประเทศในแถบสแกนดิเนเวียอย่าง สวีเดน นอร์เวย์ เดนมาร์ก เป็นต้น
แน่นอนว่ามีหนาวก็ต้องมีร้อน เพราะในทางกลับกัน ก็มีนักท่องเที่ยวที่นิยมท่องเที่ยวแบบ Warmcation โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชาวยุโรปที่ต้องเผชิญกับอากาศหนาวเย็นเป็นส่วนใหญ่ พวกเขาจึงเลือกเดินทางไปยังประเทศที่มีภูมิอากาศร้อน เช่น หมู่เกาะทะเลแคริบเบียน หรือเมืองร้อนที่เราคุ้นเคยกันดีอย่าง บาหลี ภูเก็ต เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าเหล่าคำศัพท์ ‘-cation’ ใหม่ ๆ นั้นเกิดขึ้นจากพฤติกรรมท่องเที่ยวของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย หรือการเปลี่ยนแปลงทางสังคมบางอย่าง ดังนั้นเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเจาะกลุ่มเป้าหมายได้อย่างตรงจุด หรือสร้างกลยุทธ์ใหม่ ๆ ได้ลงตัวขึ้น มีเทรนด์อะไรที่น่าสนใจบ้าง? TAT Academy ได้สรุปมาให้แล้ว
Midlife-cation กู้วิกฤตวัยกลางคน
เมื่อชีวิตดำเนินมาถึงจุดหนึ่ง เราต่างก็เริ่มมองหาความหมายของชีวิตอีกครั้ง Gen X และ Gen Y เป็นกลุ่มคนที่กำลังเข้าสู่หรืออยู่ในวัยกลางคน ซึ่งบางคนอาจกำลังเผชิญกับภาวะ ‘Midlife Crisis’ หรือ ‘วิกฤตวัยกลางคน’ โดยจะเกิดขึ้นเมื่อพวกเขาเริ่มตระหนักได้ว่าพวกเขาใช้ชีวิตมาได้ครึ่งทางแล้ว จึงเกิดความเครียด วิตกกังวล รู้สึกถึงความไม่มั่นคงทางอารมณ์ และหมดไฟ หนึ่งในวิธีที่จะช่วยดึงพวกเขาออกจากความทุกข์คือการออกเดินทางท่องเที่ยวเพื่อสัมผัสประสบการณ์ใหม่ ๆ และสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ตนเอง บริการที่เหมาะแก่นักท่องเที่ยวกลุ่มวัยกลางคนคือ กิจกรรมที่สร้างความสนุกสนาน ชวนให้หวนนึกถึงวัยเยาว์ กิจกรรมผจญภัย สัมผัสวัฒนธรรมใหม่ ๆ เพื่อสร้างประสบการณ์แบบใหม่ หรือการเพิ่มพื้นที่การพบปะของผู้ที่มีความสนใจคล้ายคลึงกัน เพื่อเติมแรงบันดาลใจให้แก่ผู้ที่กำลังเผชิญวิกฤตวัยกลางคน นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ยังมีแนวโน้มที่จะท่องเที่ยวกับครอบครัว จึงมองหาที่พักและแหล่งท่องเที่ยวที่เหมาะสมกับคนทุกวัยในครอบครัว
Unemploymentcation ตกงานแต่ไม่ตกใจ
เรียกได้ว่าอีกหนึ่งผลพวงที่เกิดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 คือการที่หลายบริษัทมีรายได้ลดลง บ้างก็ปิดกิจการไป ส่งผลให้อัตราการว่างงานสูงขึ้นทั่วโลก และถึงแม้ว่า ณ ปัจจุบันช่วงเวลาของการ Lockdown จะสิ้นสุดลงแล้ว ทว่าก็ยังคงส่งผลมาจนถึงตอนนี้ ผู้คนจำนวนมากที่ว่างงานบางส่วนจึงใช้เวลาว่างนี้ในการออกเดินทางท่องเที่ยว พักผ่อนหย่อนใจหลังจากที่ทำงานติดต่อกันมานาน เป็นช่วงที่จะฟื้นฟูพลังกายและพลังใจก่อนจะกลับเข้าสู่การทำงานอีกครั้ง ดังนั้นผู้ประกอบการจึงควรออกแบบบริการที่จะรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ด้วยการสร้างบรรยากากาศแหล่งท่องเที่ยวแบบชวนให้รู้สึกผ่อนคลาย ปลอดโปร่ง เหมาะแก่การพักผ่อนและหลีกหนีจากโลกภายนอก และพวกเขายังมองหาทริปราคาย่อมเยาเนื่องจากเป็นเป็นทริประยะยาว และเป็นช่วงที่ไม่มีรายได้ ดังนั้นผู้ประกอบการจึงอาจมีโปรโมชันพิเศษ เพื่อตอบโจทย์นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้
Alphacation อัลฟาพาท่องเที่ยว
ในอนาคตเจนเนอเรชันที่จะเข้ามาเป็นผู้นำต่อไปคือ Generation Alpha หรือที่เรามักเรียกกันว่า ‘เจนอัลฟา’ ซึ่งปัจจุบันนี้เจนอัลฟายังอยู่ในวัยเด็กเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่เมื่อพวกเขาเติบโตขึ้น ทิศทางของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะถูกกำหนดโดยผู้คนกลุ่มนี้ จากผลการสำรวจพบว่าความต้องการของนักท่องเที่ยวกลุ่มเจนอัลฟาส่งผลต่อการเลือกกิจกรรมในทริปนั้น ๆ ดังนั้นผู้ประกอบการจึงควรเตรียมพร้อมรับความต้องการของเจนอัลฟาแต่เนิ่น ๆ เอาไว้
เจนอันฟาเป็นเจนเนอเรชันที่เติบโตท่ามกลางเทคโนโลยีล้ำสมัย แนวโน้มการท่องเที่ยวในอนาคตจึงอาจเป็นการบูรณาการธุรกิจท่องเที่ยวกับการใช้เทคโนโลยี จนเกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ เช่น บริการแบบ Personalized หรือ บริการแบบเฉพาะบุคคล และโดยส่วนใหญ่ยังชื่นชอบการใช้อุปกรณ์อีเล็กทรอนิกส์อย่างสมาร์ตโฟน นาฬิกาสมาร์ตวอตช์ และยังชอบรับชมการสตรีมเกม ที่พักหรือสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ จึงควรจัดหาอุปกรณ์ไฮเทคเพื่ออำนวยความสะดวก และสร้างประสบการณ์ที่แสนน่าประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวเจนอัลฟาได้อย่างตรงจุด
Pioneeracation นักท่องเที่ยวคนแรก
ในยุคที่อาจเรียกได้ว่าไม่มีอะไรเป็นสิ่งใหม่อีกต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังที่เราคุ้นเคยกัน เช่น ถ้าพูดถึงประเทศญี่ปุ่น ผู้คนก็จะนึกถึงภูเขาไฟฟูจิ โตเกียวทาวเวอร์ หรือหากพูดถึงประเทศไทย เราก็อาจนึกถึงวัดพระแก้วในกรุงเทพฯ เป็นต้น ทว่า แหล่งท่องเที่ยวเหล่านี้อาจถูกมองว่าซ้ำซากจำเจเสียแล้ว แถมบางครั้งยังมีนักท่องเที่ยวล้น สร้างความหงุดหงิดใจให้คนบางกลุ่มกำลังต้องการที่จะแหวกหมุดหมายเดิม ๆ และสำรวจพื้นที่ใหม่ ๆ ซึ่งก็อาจไม่ต้องมองหาที่ไหนไกล หากแต่เป็นสถานที่เล็ก ๆ ในชุมชน สวนสาธารณะเล็ก ๆ ก็สามารถได้รับการพัฒนาและผลักดันเพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ เจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ต้องการหลีกหนีจากฝูงชนอันแสนความวุ่นวาย สามารถใช้เวลาพักผ่อนได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งยังให้ความรู้สึกว่าพวกเขาเป็น ‘คนแรก’ ที่ได้ค้นพบแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ๆ ไม่เหมือนใครอีกด้วย
Regeneracation ท่องเที่ยวและฟื้นสร้าง
เมื่อบางสิ่งถูกทำลาย ย่อมต้องมีการสร้างคืน สิ่งแวดล้อมก็เช่นกัน อย่างที่เราทราบกันดีถึงเทรนด์ความยั่งยืนในปัจจุบัน ทำให้นักท่องเที่ยวสายรักษ์โลก หรือ ‘Eco-Traveller’ มองหาทริปที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และยิ่งไปกว่านั้น คือทริปที่จะช่วยกู้วิกฤตสิ่งแวดล้อม ผู้ประกอบการอาจจัดหาโปรแกรมท่องเที่ยวเกี่ยวกับการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมอย่างกิจกรรมปลูกป่า แต่นอกจากธรรมชาติแล้ว ก็ควรคำนึงถึงชุมชนโดยรอบ โดยอาจออกแบบให้โปรแกรมท่องเที่ยวนั้น ๆ มีการสนับสนุน พัฒนาและส่งเสริมความเป็นอยู่ผู้คนในชุมชน นอกจากจะช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนและสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังสร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวสายรักษ์โลกอีกด้วย
โดยสรุป เราอาจเห็นเทรนด์การท่องเที่ยวต่าง ๆ ที่ลงท้ายด้วย ‘-cation’ แต่ในขณะที่โลกหมุนไป ก็มีเทรนด์ใหม่ ๆ เกิดขึ้นทุกวันเช่นกัน ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมที่แปรเปลี่ยนไปของนักท่องเที่ยว และเป็นเหมือนกับเบ้าหลอมเทรนด์การท่องเที่ยวในอนาคตต่อไป ผู้ประกอบการจึงควรหมั่นสังเกตและติดตามสถานการณ์การท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับเทรนด์ใหม่ ๆ ที่กำลังจะเข้ามาในอนาคต
ที่มา: