หลายคนอาจมองว่า ‘การท่องเที่ยว’ เป็นเรื่องธรรมดาทั่วไปที่ไม่ว่าใครก็สามารถทำได้ แต่รู้หรือไม่ว่าแท้จริงแล้ว การออกเดินทางท่องเที่ยวไปยังที่ต่าง ๆ นั้นอาจไม่ใช่เรื่องง่ายและธรรมดาสำหรับทุกคนเสียทีเดียว ตัวอย่างเช่น ผู้พิการ ที่ต้องใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือในยามเดินทาง ทางเท้าที่ขรุขระสำหรับบางคนอาจไม่ใช่ปัญหาใหญ่นัก ทว่าผู้พิการจะต้องเผชิญกับความยากลำบากกว่าหลายเท่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การออกเดินทางเพื่อท่องเที่ยว เพราะพวกเขาจะต้องคำนึงถึงวิธีการเดินทาง พิจารณาหาข้อมูลว่ามีขนส่งสาธารณะที่เอื้อต่อผู้พิการหรือไม่ ที่พักหรือโรงแรมมีบริการรองรับผู้พิการหรือเปล่า และสารพัดปัจจัยอีกมากมาย หรือยังมีปัญหาการกีดกันในด้านอื่น ๆ ที่ชนกลุ่มน้อยจะต้องพบเจอ ซึ่งปัญหาเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าการท่องเที่ยวมิใช่เรื่องของคนทุกคนเสียแล้ว
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้เราอาจเริ่มมองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ เพราะโลกของเราได้เดินทางมาถึงยุคของการโอบรับความหลากหลายและความเท่าเทียมในที่สุด ไม่ว่าจะเป็นในด้านชาติพันธุ์ เพศ ศาสนา และความพิการ หลายอุตสาหกรรมก็จำเป็นต้องมีความลื่นไหล เพื่อปรับตัวไปตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป
แน่นอนว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเองก็ต้องตระหนักถึงเรื่องความหลากหลายและปรับตัวเช่นกัน ทั้งนี้ เพื่อให้การท่องเที่ยวไทยพัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่ง และร่วมเป็นหนึ่งในฟันเฟืองของการขับเคลื่อนยุคสมัยใหม่ที่ผู้คนจะสามารถออกเดินทางท่องเที่ยวได้อย่างเท่าเทียม ฉะนั้นแล้ว ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวจึงควรมีแนวคิดที่ ‘ลื่นไหล’ สนับสนุนความ ‘หลากหลาย’ พร้อมเป็นตัวกลางในการ ‘เชื่อมต่อ’ ผู้คน
TAT Academy จะพามาทำความรู้จักกับแนวคิด ‘Liquid Tourism’ หรือการทำธุรกิจท่องเที่ยวแบบ ‘ลื่นไหล’ ที่พร้อมจะปรับตัวเพื่อโอบรับความหลากหลายและความเท่าเทียมอย่างแท้จริง โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
ทำความรู้จัก Liquid Tourism 3 ด้าน
1. Ethno-Scapes - สัมผัสและเข้าใจ
การออกเดินทางท่องเที่ยว เป็นอีกหนึ่งวิธีการเปิดประสบการณ์และมุมมองใหม่ ๆ หรือบางครั้งอาจเปลี่ยนชีวิตของเราได้เลยทีเดียว ซึ่งปัจจุบันนักท่องเที่ยวบางกลุ่มก็นิยมเที่ยวเพื่อสัมผัสวิถีชีวิต วัฒนธรรมเพณีของชนชาติอื่น ๆ ที่ไม่คุ้นเคย
แนวทางสำหรับผู้ประกอบการคือการร่วมมือกับท้องถิ่น ตัวอย่างธุรกิจที่มีการร่วมมือกับชุมชนเพื่อผลักดันการท่องเที่ยวท้องถิ่นคือ ‘Local Alike’ โดยเป็นธุรกิจเพื่อสังคมในด้านการท่องเที่ยว ซึ่งถูกก่อตั้งขึ้นมาด้วยปณิธานที่ต้องการพัฒนาชุมชนเพื่อการท่องเที่ยว ใช้ ‘กระแสเพื่อความยั่งยืน’ ที่ชุมชนได้ประโยชน์ด้วย เป็นแนวทางธุรกิจที่น่าสนใจ และเหมาะแก่การนำไปปรับใช้ในแง่ของการส่งเสริมการท่องเที่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์
อย่างไรก็ตาม ข้อควรระวังคือผู้ประกอบการไม่ควรเข้าไปเป็นเหมือน “ผู้กอบกู้” แต่ควรเข้าไปมีบทบาทในเชิงของพันธมิตรที่จะร่วมพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืน มุ่งเน้นคำนึงถึงผลประโยชน์ที่ชุมชนจะได้เป็นหลัก ในขณะเดียวกัน การออกแบบโปรแกรมท่องเที่ยวก็ควรปลูกฝังแนวคิดของการโอบรับความหลากหลายทางวัฒนธรรมให้แก่นักท่องเที่ยวด้วย ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสวิถีชีวิตของชนชาติพันธุ์เพื่อเกิด ‘ความเข้าอกเข้าใจ’ (Empathy) สอดแทรกการตระหนักรู้ถึงปัญหาที่ชนกลุ่มน้อยต้องเผชิญ และไม่ควรทำให้นักท่องเที่ยวเกิดความรู้สึกว่าชุมชนเป็นแหล่งท่องเที่ยวแบบ ‘แปลกใหม่’ (Exotic) แต่ควรให้เกียรติและเคารพในฐานะเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
2. Rainbow Journeys - เส้นทางสีรุ้ง
‘ความลื่นไหลทางเพศ’ มนุษย์เรามีนิยามทางเพศมากกว่าแค่ชายหญิง ไม่ว่าจะเป็น เกย์ เลสเบียน คนข้ามเพศ นอนไบนารี และอื่น ๆ อีกมากมาย ตามตัวอักษร LGBTQIAN+ หรือที่เรารู้จักในนามของ ‘กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ’ ซึ่งก็เป็นไปได้ว่าในอนาคตข้างหน้า อาจมีนิยามใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ในขณะเดียวกัน หลายประเทศทั่วโลกก็กำลังเดินหน้าผลักดันเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ทั้งเรื่องของสมรสเท่าเทียม การเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อสำหรับบุคคลข้ามเพศ เป็นต้น
การเคลื่อนไหวเรื่องความเท่าเทียมทางเพศนี้เองก็เป็นเรื่องที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวควรให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวด ผู้ประกอบการควรศึกษาเรื่องของความเท่าเทียมทางเพศเพื่อเป็นแนวทางให้กับธุรกิจ ถึงแม้ว่าปัจจุบันนี้ ความหลากหลายทางเพศจะเป็นที่ยอมรับในสังคมระดับหนึ่ง แต่ผู้มีความหลากหลายทางเพศบางกลุ่มนั้นก็ออกเดินทางท่องเที่ยว เพื่อแสวงหาพื้นที่ปลอดภัยซึ่งพวกเขาจะสามารถเป็นตัวของตัวเองได้อย่างเต็มที่ เช่น คู่รักชาว LGBTQIAN+ ต่างชาติที่เดินทางมาจดทะเบียนสมรสที่ประเทศไทย เป็นต้น หรือมองหาพื้นที่พบปะกับผู้ที่มีความสนใจคล้ายคลึงกัน เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และทำให้พวกเขาไม่รู้สึกโดดเดี่ยวหรือแปลกแยกจากสังคม
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการควรระมัดระวังในเรื่องของ Rainbow Washing (การใช้ ‘สีรุ้ง’ อันเป็นสัญลักษณ์ของความหลากหลายทางเพศ เป็นเครื่องมือทางการตลาดโดยขาดความเข้าใจ) ดังนั้นการออกแบบสินค้าและบริการสำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศนั้นควรเกิดจากความตระหนักรู้และเข้าอกเข้าใจความต้องการของกลุ่มเป้าหมายอย่างแท้จริง มิใช่เพื่อเหตุผลทางธุรกิจแต่เพียงอย่างเดียว
3. Barrier-free Paths - เที่ยวอย่างไร้อุปสรรค
ธุรกิจท่องเที่ยวที่จะสามารถเข้าถึงนักท่องเที่ยวได้ทั่วถึงอย่างแท้จริง คือธุรกิจที่คำนึงถึงความต้องการของผู้พิการด้วย ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ผลการสำรวจความพิการของ สำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2565 พบว่าประเทศไทยมีจำนวนผู้พิการประมาณ 4.19 ล้านคน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่ไม่น้อยเลยทีเดียว ดังนั้นในการออกแบบสินค้าและบริการ ผู้ประกอบการจึงต้องคำนึงถึงผู้ใช้บริการที่ครอบคลุมไปถึงความต้องการของผู้พิการ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่มีข้อจำกัดทางเคลื่อนไหว การมองเห็น การได้ยิน หรือข้อจำกัดอื่น ๆ โดยออกแบบและปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมเพื่อให้ทุกคนเข้าถึงได้ง่ายและปลอดภัย
ทั้งนี้ การออกแบบสินค้าและบริการของที่พักหรือแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อผู้พิการนั้นไม่ควรนับว่าเป็นบริการ ‘พิเศษ’ ที่ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม แต่ควรมีอยู่ทั่วไป เพื่อสร้างมาตรฐานในเรื่องของแนวคิดที่ไม่ว่าใครก็สามารถเข้าถึงสถานที่ท่องเที่ยวนั้น ๆ ได้
ตัวอย่างเช่น ใช้แนวคิดการออกแบบที่เป็นสากลและเป็นมิตรกับทุกคน (Universal Design) เช่น อักษรเบรลล์ในลิฟต์ ป้ายบอกทางขนาดใหญ่ มีภาพหรือไอคอนที่ชัดเจน มีสื่อที่เข้าใจง่ายสำหรับผู้มีปัญหาการได้ยินหรือการมองเห็น ควรฝึกอบรมพนักงานให้สามารถดูแลผู้พิการได้อย่างเหมาะสม เช่น วิธีช่วยเหลือขึ้นลงรถ เข็นกระเป๋า หรือการดูแลปัญหาเฉพาะหน้าอื่น ๆ นอกจากนี้ก็อาจมีการทำงานร่วมกับสมาคมหรือหน่วยงานเกี่ยวข้องกับคนพิการ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องและสามารถออกแบบบริการที่ตรงความต้องการอย่างแท้จริง
โดยสรุป ‘Liquid Tourism’ ท่องเที่ยวแบบลื่นไหล หลากหลาย และเชื่อมต่อ คือประตูสู่โลกแห่งการท่องเที่ยวยุคใหม่ ผ่านการออกแบบและจัดการบริการด้านการท่องเที่ยวที่ให้ความสำคัญกับการเข้าถึงและความสะดวกสบายของนักท่องเที่ยวทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ผู้มีความหลากหลายทางเพศ ผู้พิการ หรือกลุ่มอื่น ๆ ก็สามารถนำเอาแนวคิดเหล่านี้ไปปรับใช้ได้เช่นกัน โดยมีหลักการออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการต่าง ๆ ตามแนวคิด Universal Design ให้ใช้งานง่ายและปลอดภัยสำหรับทุกคน อีกทั้งยังคำนึงถึงการสื่อสารและการฝึกอบรมบุคลากร เพื่อให้สามารถดูแลนักท่องเที่ยวแต่ละประเภทได้อย่างเหมาะสม
ที่มา