หน้าแรก/บทความ/สรุป 4 เทรนด์ “Trawellness” น่าจับตามอง ปี 2025/

สรุป 4 เทรนด์ “Trawellness” น่าจับตามอง ปี 2025

09 มกราคม 2568
แชร์บทความนี้

     ก้าวเข้าสู่ปี 2025 แล้ว ปัจจุบันเทรนด์ Wellness หรือสุขภาวะถูกฝังลึกอยู่ในไลฟ์สไตล์ของนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ไปแล้ว ผู้คนมองหาทริปที่จะทำให้พวกเขาได้พักผ่อนหย่อนใจไปพร้อม ๆ กับการบำรุงดูแลรักษาสุขภาพของตนเอง แต่ Wellness นั้นไม่ได้หมายถึงเพียงแค่ในเรื่องของสุขภาพกายแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงความเป็นอยู่ที่ดี และสุขภาวะที่ดีด้วย ในยุคที่ผู้คนออกเดินทางเพื่อแสวงหาพื้นที่ที่จะได้สัมผัสความเป็นอยู่อันดี ผู้ประกอบการจะสามารถนำเอาแนวคิดแบบใดไปปรับใช้ได้บ้าง? 

     TAT Academy จะพาไปสำรวจ 4 เทรนด์ “Trawellness” หรือเทรนด์สุขภาวะที่จะส่งอิทธิพลต่อการท่องเที่ยวในปี 2025 จากการคาดการณ์ของ TCDC และ Euromonitor International เพื่อให้ผู้ประกอบการได้เตรียมตัวรับมือกับความต้องการของนักท่องเที่ยวได้อย่างทันท่วงที

1. Well-topia - มหานครแห่งสุขภาวะ

     เมื่อผู้คนมองหาความเป็นอยู่ที่ดีมากขึ้น แนวคิด Well-topia คือแนวคิดเมืองแห่งอนาคตซึ่งจะมาตอบโจทย์ความต้องการเรื่องความเป็นอยู่ของผู้คน Well-topia นั้นอยู่บนฐานความคิดที่จะทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงสุขภาวะได้อย่างทั่วถึงและดีที่สุด 

     แนวคิด Well-topia จะมีการเอาหลักการบลูโซน (Blue Zone)  หรือการสร้างพื้นที่ปลอดภัย มาใช้สร้างคอมมูนิตี้ที่ทำให้ผู้คนมีอายุยืนยาว เช่น การออกแบบพื้นที่ให้สะดวกต่อการใช้ชีวิต มีบรรยากาศที่ผ่อนคลาย ลดความเครียด ตัวอย่างอาคารที่มีการก่อสร้างในลักษณะของบลูโซนคือโรงพยาบาล “Khoo Teck Puat” (คู-เต็ก-พวต) ที่นอกจากจะเป็นโรงพยาบาลแล้ว ยังเป็นพื้นที่สาธารณะให้ผู้คนได้เข้าไปใช้สอย พักผ่อน และทำกิจกรรมต่าง ๆ ส่งเสริมทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตให้แก่คนในชุมชน นอกจากนี้แนวคิด Well-topia ยังมีการออกแบบเมืองให้ครอบคลุมไปถึงผู้พิการด้วย เรียกได้ว่าเป็นการออกแบบเมืองให้ตอบสนองความต้องการของผู้คนที่หลากหลายอย่างแท้จริง

     ด้วยลักษณะของเมือง Well-topia ที่ช่วยอำนวยความสะดวกสบายให้แก่ผู้พำนักอาศัย ดังนั้นจึงมีแนวโน้มว่าเมืองลักษณะเช่นนี้จะเป็นหมุดหมายยอดฮิตของนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวแบบ Bleisure หรือการท่องเที่ยวไปด้วยและทำธุรกิจไปด้วย 

2. Seen Space - พื้นที่แห่งตัวตน 

     ปัจจุบันเราอยู่ในยุคแห่งความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นความหลากหลายทางเพศ เชื้อชาติ ศาสนา สีผิว และความพิการ ผู้คนต่างเสาะหาพื้นที่ที่พวกเขาจะสามารถเป็นตัวเองได้อย่างอิสระและเต็มที่ ผ่านการออกเดินทางท่องเที่ยวไปยังประเทศหรือเมืองต่าง ๆ ที่ตรงกับตัวตนและความสนใจของพวกเขา เพื่อให้พวกเขารู้สึกว่าได้รับการ “มองเห็น” ให้สังคมได้รับรู้และเข้าใจถึงตัวตนของพวกเขา สะท้อนถึงคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับผู้คนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม

     ตัวอย่างเช่น เว็บไซต์ Matriarchy Builds ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่รวบรวมผู้ที่มีความชอบสิ่งประดิษฐ์แบบ DIY (Do it yourself) งานฝีมือต่าง ๆ งานด้านสถาปนิก และอื่น ๆ ของผู้ที่มีอัตลักษณ์ทางเพศเป็นผู้หญิงและชาวนอนไบนารี (Non-binary หรือผู้ที่อยู่เหนือกรอบเพศทวิลักษณ์) เพื่อเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศที่มีความสนใจคล้ายคลึงกัน เป็นต้น 

     ซึ่งแนวคิดนี้ก็สามารถนำเอามาปรับใช้ในพื้นที่จริงได้ ไม่ใช่เพียงแค่ในออนไลน์ ในเชิงของการท่องเที่ยว การสร้างพื้นที่ที่โอบรับความหลากหลายจึงเป็นเรื่องสำคัญ สามารถดึงดูดความสนใจของผู้ที่ต้องการแสดงออกถึงตัวตนได้อย่างปลอดภัย เช่น ช่วง Pride Month หรือเดือนแห่งความภาคภูมิใจของผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือชาว LGBTQIAN+ ในซึ่งเกิดขึ้นช่วงเดือนมิถุนายนของทุกปี ซึ่งขบวนไพรด์นั้นก็เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ปลอดภัยให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศได้เป็นตัวเองอย่างภาคภูมิ ปราศจากการถูกตัดสิน และทำให้พวกเขามั่นใจว่าจะมีความเป็นอยู่ที่ดี 

3. Refueling Trawellness - เติมเต็มหัวใจ

     หัวข้อเรื่องสุขภาพจิตถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงมากขึ้นในปัจจุบัน เพราะเพียงแค่สุขภาพที่ร่างกายแข็งแรงนั้นยังไม่พอ แต่สุขภาพจิตก็สำคัญไม่แพ้กัน การออกเดินทางท่องเที่ยวและได้พบเจอกับโลกกว้าง ก็เป็นอีกหนึ่งกุญแจที่จะช่วยทำให้เรามีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น

     ผลพวงจากการระบาดของโควิด-19 ยังคงส่งผลต่อพฤติกรรมนักท่องเที่ยวจนถึงตอนนี้ ถึงแม้จะเป็นความจริงที่ว่าผู้คนทุกช่วงวัยได้รับผลกระทบทางจิตใจจากการที่ต้องกักตัวอยู่บ้าน แต่จากผลสำรวจ Lifestyle Survey ของ Euromonitor International พบว่า Gen Z และ Gen Y นั้น เป็นช่วงวัยที่ใช้เวลาไปกับการทำกิจกรรมเพื่อคลายเครียดเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งทั้งสองช่วงวัยนั้นเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวกลุ่มสำคัญ แสดงให้เห็นถึงภาพรวมของการเติบโตของการให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพจิตมากขึ้น

     ผู้ประกอบการเกี่ยวกับธุรกิจท่องเที่ยวจึงควรจัดหาสินค้าและบริการที่จะมาช่วยตอบโจทย์ในเรื่องของการดูแลสุขภาพจิตของนักท่องเที่ยว เช่น Sleep Therapy ที่จะช่วยส่งเสริมคุณภาพด้านการนอนหลับ ให้นักท่องเที่ยวสามารถพักผ่อนได้อย่างเต็มที่ เมื่อได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอ ก็จะส่งผลในแง่บวกไปถึงสุขภาพจิตใจ การสร้างบรรยากาศของสถานที่ท่องเที่ยวหรือที่พักให้ปลอดโปร่ง ไม่อุดอู้ เหมาะสมแก่การพักผ่อนหย่อนใจ ให้นักท่องเที่ยวได้ละทิ้งซึ่งความเครียดที่ต้องเผชิญในชีวิตประจำวันนั่นเอง 

4. Metamorphic Cities - เมืองที่ไม่มีวันหลับใหล

     เพราะผู้คนเบื่อความจำเจและซ้ำซาก และมนุษย์มีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาอยู่เสมอ เพราะฉะนั้นเมืองจึงต้องมีความเคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาเช่นเดียวกัน โดย Metamorphic Cities ก็ได้มีการนำเอาแนวคิด Feminism (สตรีนิยม) มาปรับใช้กับมิติของการออกแบบเมือง นำไปสู่การสร้างเมืองที่โอบรับความหลากหลาย ไม่แบ่งแยก (Inclusive Design) 

     ทั้งนี้ Metamorphic Cities นอกจากจะโอบรับความหลากหลายของผู้คนแล้ว ยังต้องมีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องและไม่หยุดนิ่งอีกด้วย เช่น การออกแบบพื้นที่สาธาารณะให้มีความสว่างและมีชีวิตชีวาในตอนกลางคืนเพื่อความปลอดภัย มีการติดตั้งเครื่องอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้พิการ ผลลัพธ์นั้นก็เพื่อคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่ผู้คนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม 

     เราอาจรู้จัก Bangkok Design Week (BKKDW) หรือ “เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ” ซึ่งนำเสนองานออกแบบสร้างสรรค์ที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในกรุงเทพฯ มีเป้าประสงค์ในการผลักดันให้กรุงเทพฯ ได้เป็นเมืองที่สามารถตอบรับความต้องการผู้คนทุกกลุ่มได้ ซึ่งในอนาคตก็จะกลายเป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก ให้นักท่องเที่ยวได้มาสัมผัสเสน่ห์ความเป็นเมืองที่มีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาของกรุงเทพฯ ผ่านหลักแนวคิดสามมิติ ได้แก่ อยู่ดี (City & Living) กินดี (Well-Being & Gastronomy) และธุรกิจสร้างสรรค์ (Creative Business) 

     โดยสรุป ปี 2025 จะเป็นปีที่นักท่องเที่ยวมีแน้วโน้มจะให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ที่ดี (Well-being) การดูแลสุขภาพองค์รวม ที่ครอบคลุมทั้งร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ อีกทั้งยังส่งเสริมให้มีความหลากหลายมากขึ้น (Inclusivity) ไม่ว่าจะเป็นเพศ สีผิว เชื้อชาติ ความพิการ พวกเขาล้วนแล้วแต่เสาะหาพื้นที่ที่จะสามารถโอบรับความลื่นไหลและความแตกต่างของแต่ละบุคคลได้อย่างทั่วถึง ทั้งนี้ผู้ประกอบการสามารถนำเอาแนวคิดเหล่านี้ไปใช้สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยวแต่ละกลุ่มได้ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของนักท่องเที่ยวที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอนั่นเอง

ที่มา:

แชร์บทความนี้



บทความอื่นที่คุณอาจสนใจ

ทำความรู้จัก 'Longevity Tourism' พร้อมสำรวจ 'Blue Zones' แต่ละแห่งทั่วโลก
ทำความรู้จัก 'Longevity Tourism' พร้อมสำรวจ 'Blue Zones' แต่ละแห่งทั่วโลก
Culturonovation Tourism การท่องเที่ยวเพื่อสัมผัส “นวัฒนธรรม”
Culturonovation Tourism การท่องเที่ยวเพื่อสัมผัส “นวัฒนธรรม”
Well-Generative Co-Creation เก่าแต่ใหม่ สร้างประโยชน์จากสิ่งปลูกสร้างที่ถูกลืม
Well-Generative Co-Creation เก่าแต่ใหม่ สร้างประโยชน์จากสิ่งปลูกสร้างที่ถูกลืม

ระบบเรียนออนไลน์

สมาชิก TAT ACADEMY สามารถเข้าถึงข้อมูลการท่องเที่ยวของประเทศไทย เช่น การสัมมนา การท่องเที่ยว กิจกรรม และข่าวสาร สำคัญต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย