หน้าแรก/บทความ/ยกระดับธุรกิจให้เป็น Sustainable Luxury ผ่าน 3 แง่มุม/

ยกระดับธุรกิจให้เป็น Sustainable Luxury ผ่าน 3 แง่มุม

19 ธันวาคม 2567
แชร์บทความนี้

     เมื่อกล่าวถึงความหรูหราแล้วคุณนึกถึงอะไร? คุณอาจนึกถึงที่พักอันใหญ่โตโอ่อ่า เพียบพร้อมไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก เฟอร์นิเจอร์ที่ทำมาจากวัสดุพรีเมียม การตกแต่งสถานที่แบบบอลังการ พร้อมด้วยบริการสุดเอ็กซ์คลูซีฟ แต่รู้หรือไม่ว่า ปัจจุบันนี้ ความหรูหราเพียงอย่างเดียวไม่สามารถตอบโจทย์นักท่องเที่ยวได้อย่างครอบคลุมอีกต่อไป แต่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องตระหนักถึงผลกระทบที่ธุรกิจสร้างต่อสิ่งแวดล้อม และค้นหาวิธีที่จะลดผลกระทบเหล่านั้น อีกทั้งยังต้องมีความรับผิดชอบ และสร้างคุณประโยชน์ให้แก่สังคม ซึ่งการนำเอาความหรูหรามาบูรณาการกับแนวคิดด้านความยั่งยืนนั้น เรียกว่า “Sustainable Luxury”

     “Sustainable Luxury” อาจฟังดูเป็นคำที่อยู่ในขั้วตรงข้ามกัน แต่แท้จริงแล้วเป็นสองแนวคิดที่สามารถนำมาผสมผสานกันและปฏิบัติไปควบคู่กันได้ Sustainable Luxury เป็นคำที่ใช้เพื่ออธิบายถึงแนวคิดที่นำเอาความหรูหรา การสร้างประสบการณ์สุดพิเศษ ผ่านสินค้าและบริการแบบพรีเมียม มาผสมผสานกับแนวคิดความยั่งยืน ซึ่งความยั่งยืนในที่นี้มิใช่เพียงแค่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงคุณภาพชีวิตของชุมชนในละแวกเดียวกัน การสนับสนุนท้องถิ่น และการสร้างผลกระทบในเชิงบวกระยะยาวให้กับทุกภาคส่วน 

     เดิมทีแล้ว Sustainable Luxury มักถูกกล่าวถึงในวงการแฟชั่นโดยส่วนมาก ซึ่งเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่สร้างมลพิษอย่างมหาศาล หลายแบรนด์เสื้อผ้าก็ได้พยายามผลักดันแนวคิดแฟชั่นที่จะสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างน้อยที่สุด แน่นอนว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเองก็สร้างร่องรอยทางคาร์บอนไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน แนวคิด Sustainable Luxury จึงถูกนำมาปรับใช้ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องใช้ความหรูหราและสะดวกสบายเป็นจุดขายดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มที่มีกำลังซื้อ ทว่าความหรูหรานั้นย่อมแลกมาด้วยการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างมหาศาล ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม 

     ด้วยการเติบโตของนักท่องเที่ยวกลุ่ม Luxury Traveller ที่มาควบคู่กับการเติบโตของเทรนด์ความยั่งยืนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จึงทำให้แนวคิดของ Sustainable Luxury มีความสำคัญต่อผู้ประกอบการธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว TAT Academy จะพาสำรวจแนวคิด Sustainable Luxury ว่าเมื่อความหรูหราและความยั่งยืนมาผสมผสานกันแล้วเป็นอย่างไร และผู้ประกอบการจะสามารถนำเอาแนวคิดนี้ไปปรับใช้อย่างไรได้บ้าง

ยกระดับบริการ Sustainable Luxury สำหรับผู้ประกอบการ ผ่าน 3 แง่มุม

1. Transportainable เดินทางอย่างยั่งยืน

     การท่องเที่ยวเริ่มต้นขึ้นด้วยการออกเดินทาง ดังนั้นระบบขนส่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งยวดสำหรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว แต่ก็เป็นตัวการสำคัญที่สร้างก๊าซเรือนกระจก ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน เนื่องจากยานพาหนะส่วนใหญ่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล รถยนต์ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เรือสำราญที่ปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ก่อให้เกิดฝนกรด 

Limougreen

     หนึ่งในบริการสุดหรูที่เราคุ้นตาคงหนีไม่พ้นรถลีมูซีน ซึ่งเป็นรถสำหรับบริการรับ-ส่งนักท่องเที่ยวจากสนามบินสู่ที่พัก ข้อดีของการใช้บริการรถลีมูซีนคือ ความน่าเชื่อถือ มีความปลอดภัยสูง อีกทั้งยังมีอาหารว่างและเครื่องดื่มไว้คอยบริการบนรถ เรียกได้ว่าเป็นบริการที่ครบครัน ช่วยมอบความสะดวกสบายและประสบการณ์ที่ดีให้แก่นักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก และเช่นเดียวกับรถยนต์ทั่วไป รถลีมูซีนก็เป็นยานพาหนะที่สร้างมลภาวะให้แก่ท้องถนน ธุรกิจรถลีมูซีนได้มีการนำเอารถลีมูซีนที่ใช้พลังงานไฟฟ้ามาให้บริการแก่ผู้โดยสารที่ต้องการเดินทางอย่างสะดวกสบาย แต่ในขณะเดียวกันก็สบายใจได้ว่าพวกเขาจะไม่สร้างผลกระทบในแง่ลบให้กับสิ่งแวดล้อม 

Eco-Cruise

     อีกหนึ่งวิธีการเดินทางที่มอบประสบการณ์อันหรูหราให้แก่นักท่องเที่ยวคือการล่องเรือ ไม่ว่าจะเป็นเรือยอร์ชขนาดเล็กที่มีความส่วนตัวมากกว่า หรือการล่องเรือสำราญ ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างการเดินทางชมท้องมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ไปพร้อม ๆ กับเข้าพักในโรงแรมบนเรือที่เพียบพร้อมไปด้วยบริการสุดหรู ทั้งเรือยอร์ชและเรือสำราญต่างก็สร้างมลภาวะเช่นกัน ซึ่งผู้ประกอบการจำเป็นต้องตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ธุรกิจสร้าง เช่น หลักการ Blue Economy ที่เป็นหลักการสำหรับส่งเสริมความยั่งยืนของชายฝั่งทะเล เริ่มจากการตระหนักรู้ถึงปัญหาทางทะเล เช่น มลพิษ การปล่อยของเสียลงทะเล ไปตลอดจนถึงการสร้างความร่วมมือกับองค์กรที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ 

2. Wellnesstainable ฮีลใจแบบยั่งยืน

     ด้วยการเติบโตของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ในขณะเดียวกัน บริการสปา การนวดเพื่อผ่อนคลาย หรือบริการใด ๆ ก็ตามที่เกี่ยวกับการดูแลรักษาสุขภาพ เหล่านี้ล้วนต้องใช้ทรัพยากรและใช้พลังงานจำนวนมาก ซึ่งเป็นการสร้างร่องรอยทางคาร์บอน ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อน และปัจจุบัน ด้วยค่านิยมในด้านความยั่งยืน การตระหนักถึงปัญหาโลกร้อน ผู้บริโภคกลุ่ม Luxury Traveller จึงมีความพร้อมที่จะจ่ายเงินให้กับสินค้าและบริการที่ส่งผลกระทบในแง่ลบต่อโลกน้อยที่สุด 

Naturopathy

     ศาสตร์บำบัดด้วยธรรมชาติ อีกหนึ่งตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวในด้าน Wellness ที่ต้องการเจาะกลุ่มลูกค้า Luxury Traveller โดยเป็นการบำบัดที่ต้องใช้พื้นที่ป่า หรือพื้นที่ใดก็ตามที่ล้อมรอบไปด้วยธรรมชาติเป็นสถานที่ในการบำบัดฟื้นฟูร่างกายและจิตใจของนักท่องเที่ยว เช่น การบำบัดด้วยเสียงสภาพแวดล้อมของธรรมชาติ กิจกรรมอาบป่า เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ใกล้ชิด และกลับไปเชื่อมโยงกับธรรมชาติ เป็นต้น 

Eco-Destination 

     ปัจจุบัน นักท่องเที่ยวสาย Wellness ส่วนหนึ่งมีความต้องการจะออกไปพักใจในพื้นที่ที่ห่างไกลผู้คน เพื่อที่จะใช้เวลาอยู่กับธรรมชาติมากขึ้น ผู้ประกอบการจึงขยายบริการ สร้างสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์เทรนด์นี้ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ทำลายพื้นที่ป่า ผู้ประกอบการจำเป็นต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมรอบข้าง และชุมชนในท้องถิ่นนั้น ๆ ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการแบ่งเอากำไรจากธุรกิจมาคืนสู่คนในชุมชน ด้วยการสนับสนุนแรงงานท้องถิ่น และใช้ผลิตภัณฑ์จากท้องถิ่น นอกจากจะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชนแล้ว ยังช่วยลดการเกิดคาร์บอนฟุตพรินต์ที่จะเกิดขึ้นในขั้นตอนขนส่งได้อีกด้วย

3. Gastrainable บริโภคอย่างยั่งยืน

     อาหารก็เป็นปัจจัยหลักในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เราคงเคยเห็นภาพบุฟเฟ่ต์ที่มีอาหารวางเรียงรายเป็นตับ และมีจำนวนมากพอที่จะให้นักท่องเที่ยวสามารถรับประทานได้อย่างไม่อั้น เพราะค่านิยมที่ว่า บริการอันหรูหราไม่ควรให้นักท่องเที่ยวต้องเผชิญและอดทนรอกับอาหารที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ แต่ก็นำมาซึ่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมมากมาย

Eat-Life Balance

     “เหลือดีกว่าขาด” เป็นทัศนคติที่ทำให้เกิดการสูญเสียทางอาหาร หรือที่เรารู้จักกันในนาม “Food Waste” จะเห็นได้ว่าการบริการแบบหรูหราก็แลกมาด้วยการผลาญทรัพยากรไปจำนวนมหาศาล ดังนั้นผู้ให้บริการ ผู้ประกอบการเกี่ยวกับอาหารในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยเริ่มจากการจัดเตรียมวัตถุดิบในการทำอาหาร และการคาดคะเน ปริมาณของอาหารให้สมดุลกับจำนวนของผู้บริโภค

Ethical Food 

     อาหารสุดพรีเมียมบางเมนูก็มีกรรมวิธีที่สร้างความทุกข์ทรมานให้กับสัตว์สปีชีส์อื่น ๆ ตัวอย่างที่เรามักเห็นบ่อย ๆ คือ ฟัวกราส์ ที่มีขั้นตอนกรอกอาหารใส่ปากห่านอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้มาซึ่งตับชิ้นโตบนจานอาหาร นอกจากนี้ยังมีไข่ปลาคาเวียร์ ครีบปลาฉลาม ล้วนแล้วแต่เป็นวัตถุดิบที่ได้มาจากการฆ่าสัตว์ในจำนวนที่มากเกินพอดี ทำให้สัตว์เหล่านี้เสี่ยงสูญพันธุ์ ดังนั้นผู้ประกอบการควรมองหาเมนูทางเลือกอื่น ๆ ที่มีกรรมวิธีที่ยั่งยืน และไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อม 

     โดยสรุป ความหรูหราเป็นแนวคิดที่สามารถทำไปควบคู่กับความยั่งยืนได้ ขอเพียงผู้ประกอบการตระหนักเกี่ยวกับปัญหาทางสิ่งแวดล้อมและมีความใส่ใจที่จะร่วมด้วยช่วยกันส่งเสริมความยั่งยืนในธุรกิจ พร้อมกับสื่อสารออกไปให้ผู้คนได้รับรู้ถึงแนวทางความยั่งยืนของธุรกิจ นอกจากจะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวสายรักษ์โลกที่ชื่นชอบความหรูหราได้แล้ว ยังช่วยบรรเทาปัญหาสิ่งแวดล้อม สร้างความยั่งยืนได้อีกด้วย 

 

ที่มา: 

CNN Travel (https://bit.ly/3DkJirv), (https://bit.ly/4foWYiy)  

Sustainability Magazine

GB Limousine

Brilliant

Greenmatch

แชร์บทความนี้



บทความอื่นที่คุณอาจสนใจ

ส่องเทรนด์ “Sustaincular” จากทั่วทุกมุมโลก ในงาน Osaka Expo 2025
ส่องเทรนด์ “Sustaincular” จากทั่วทุกมุมโลก ในงาน Osaka Expo 2025
Sport Power Tourism ขับเคลื่อนการท่องเที่ยวด้วย ‘พลังแห่งกีฬา’
Sport Power Tourism ขับเคลื่อนการท่องเที่ยวด้วย ‘พลังแห่งกีฬา’
ทำความรู้จัก 'Longevity Tourism' พร้อมสำรวจ 'Blue Zones' แต่ละแห่งทั่วโลก
ทำความรู้จัก 'Longevity Tourism' พร้อมสำรวจ 'Blue Zones' แต่ละแห่งทั่วโลก

ระบบเรียนออนไลน์

สมาชิก TAT ACADEMY สามารถเข้าถึงข้อมูลการท่องเที่ยวของประเทศไทย เช่น การสัมมนา การท่องเที่ยว กิจกรรม และข่าวสาร สำคัญต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย