หน้าแรก/บทความ/5 แนวทางส่งเสริม 'Blue Economy' เศรษฐกิจสีน้ำเงิน เพื่อความยั่งยืนของทรัพยากรชายฝั่งทะเล/

5 แนวทางส่งเสริม 'Blue Economy' เศรษฐกิจสีน้ำเงิน เพื่อความยั่งยืนของทรัพยากรชายฝั่งทะเล

05 กันยายน 2567
แชร์บทความนี้

     แน่นอนว่าปัจจุบันนี้ หลายภาคส่วนกำลังตระหนักและตื่นรู้ในเรื่องของสิ่งแวดล้อม แต่อย่างไรก็ตาม พวกเขามักพูดถึงความเป็น “สีเขียว” เสียเป็นส่วนใหญ่ เราอาจเคยได้ยินคำว่า “สีเขียว” ในสื่อต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม เพราะสีเขียวเป็นสัญลักษณ์ของธรรมชาติ ต้นไม้ ใบหญ้า ระบบนิเวศต่าง ๆ ที่เราเห็นกันในชีวิตประจำวันจนคุ้นตา

     แต่วันนี้ TAT Academy จะพาทุกท่านมาทำความรู้จักกับ “Blue Economy” หรือ “เศรษฐกิจสีน้ำเงิน” เราสามารถเดาความหมายได้ไม่ยากว่าสีน้ำเงินที่ว่านี้มาจากสีของผืนน้ำทะเล ท้องมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน ซึ่งแท้จริงแล้ว Blue Economy เป็นทฤษฎีเกี่ยวกับเศรษฐกิจทางทะเลนั่นเอง โดยธนาคารโลกได้ให้นิยามเอาไว้ว่า Blue Economy เป็นแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจ บนพื้นฐานการใช้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน

     ประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีภูมิประเทศอยู่ติดทะเล แถมทะเลยังเป็นแหล่งเศรษฐกิจสำคัญของไทย ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของการทำประมง การขนส่งทางทะเล และการท่องเที่ยว ทว่าขณะนี้ พื้นที่สีน้ำเงิน หรือมหาสมุทร ก็เป็นหนึ่งในสิ่งแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกเดือด เมื่ออุณหภูมิโลกสูงขึ้น มหาสมุทรอันเป็นบ้านของสัตว์น้ำนานาชนิดจึงร้อนระอุตามไปด้วย ระบบนิเวศใต้น้ำปั่นป่วนจากการกระทำของมนุษย์ หลายอุตสาหกรรมเป็นต้นเหตุของปัญหามลพิษทางทะเล ทั้งโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการถ่ายเทของเสียลงทะเล รวมไปถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ธุรกิจเรือสำราญ ที่สร้างคาร์บอนฟุตปรินท์จำนวนมหาศาล การทำประมงผิดวิธี ซึ่งส่งผลต่อจำนวนสัตว์น้ำ 

     ด้วยความที่มหาสมุทรไม่ใช่พื้นที่อันเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ และกว้างใหญ่มากเสียจนดูเหมือนไม่มีที่สิ้นสุด หลายครั้งพื้นที่สีน้ำเงินนี้จึงอาจถูกละเลยไป ทั้งปัญหาการทิ้งขยะลงทะเล อันเป็นสาเหตุของการเกิดไมโครพลาสติก การปล่อยมลพิษต่าง ๆ จนทำให้สิ่งมีชีวิตใต้น้ำล้มตาย ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว ซึ่งสุดท้ายแล้ว ผลเสียที่เกิดขึ้นเหล่านี้ก็วนกลับมาหามนุษย์เอง เช่น ปัญหาขาดแคลนน้ำสะอาด อาหารทะเลปนเปื้อนไมโครพลาสติก เมื่อมนุษย์บริโภคเข้าไปก็จะส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว เป็นต้น

     หลายประเทศเริ่มมีการตระหนักเรื่องปัญหาของสิ่งแวดล้อมทางทะเล จึงนำแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจสีน้ำเงินมาปรับใช้เพื่อพัฒนา หลาย ๆ บริษัทไทย ในฐานะผู้ประกอบการธุรกิจเกี่ยวกับทะเล จะสามารถทำอย่างไรได้บ้างในการส่งเสริมการสร้างเขตเศรษฐกิจสีน้ำเงิน สร้างความยั่งยืน ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป 

5 แนวทาง ส่งเสริม 'Blue Economy' เศรษฐกิจสีน้ำเงิน เพื่อความยั่งยืนของทรัพยากรชายฝั่งทะเล

1. ตระหนักและระบุปัญหาสิ่งแวดล้อมทางทะเล

     ก่อนอื่นผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจทางทะเลควรตระหนักรู้ถึงผลกระทบที่ธุรกิจของตนเองมีต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ปัญหาเรื่องมลพิษ ธุรกิจเรือสำราญ ที่ถึงแม้จะสร้างเม็ดเงินอันมหาศาลให้แก่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว แต่ทว่ามีปัญหาในการสร้างมลพิษ ด้วยกระบวนการเผาผลาญเชื้อเพลิง ก๊าซมีเทนที่มีโอกาสรั่วไหลออกมาจากเรือสำราญ ซึ่งเป็นก๊าซที่สร้างผลกระทบในแง่ลบต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เสียอีก ปัญหาประมงทำลายล้าง และปัญหาอื่น ๆ อีกมากมาย เหมือนเช่นประเทศเวียดนามที่มีศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจสีน้ำเงิน แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเวียดนามยังไม่ตระหนักถึงความยั่งยืนทางทะเล จึงจำเป็นต้องเร่งให้ความรู้เรื่องปัญหาของสิ่งแวดล้อมทางทะเล เมื่อสามารถตระหนักและระบุถึงปัญหาได้แล้ว หน่วยงานนั้น ๆ ก็จะสามารถดำเนินการพัฒนาแผนเศรษฐกิจสีน้ำเงินได้ต่อไป 

2. ส่งเสริมการให้ความรู้เรื่องทางทะเล

     หลังจากที่ตระหนักรู้ถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมทางทะเลแล้ว ก็ถึงขั้นตอนที่จะต้องส่งต่อความรู้นั้นต่อไป การปูพื้นฐานเป็นสิ่งสำคัญ เหมือนกับการตอกเสาเข็มก่อนที่จะสร้างตึกอันแข็งแรง เศรษฐกิจสีน้ำเงินก็เช่นกัน ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องควรมีนโยบายเกี่ยวกับการให้ความรู้เรื่องความยั่งยืนทางทะเล การพัฒนาเขตเศรษฐกิจสีน้ำเงินให้แก่พนักงานหรือบุคลากรภายใน สร้างความตระหนักรู้เรื่องความสำคัญของการสร้างเขตเศรษฐกิจสีน้ำเงิน และคอยอัปเดตให้ทันสถานการณ์โลกเดือดอยู่เสมอ เพราะธรรมชาติมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาอย่างไม่หยุดนิ่ง

3. ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีทางทะเลสมัยใหม่

     ในยุคที่เทคโนโลยีไปไกลมากแล้ว แน่นอนว่าเราสามารถนำเอาเทคโนโลยีมาปรับใช้ได้กับหลายอย่าง ในส่วนของ Blue Economy เองก็เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการเก็บข้อมูล สอดส่องดูแลพื้นที่ การทำประมงอย่างยั่งยืน เป็นต้น ตัวอย่างประเทศที่มีการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจสีน้ำเงิน เช่น มณฑลซานตง ประเทศจีน เป็นเขตเศรษฐกิจสีน้ำเงินแห่งแรกของจีน เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำหลายสิบชนิด เป็นแหล่งการทำประมง เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และขนส่งทางน้ำ ซึ่งมีความคล้ายคลึงกันกับไทย ด้วยความที่รัฐบาลของจีนเล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่นี้ มณฑลซานตงจึงได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีทางทะเลสมัยใหม่ เพื่อที่จะนำไปสำรวจทรัพยากรทางทะเล และประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจสีน้ำเงิน

4. ทำงานอย่างเป็นระบบในทุกภาคส่วน

     การจะดำเนินงานทั้งหมดให้สำเร็จลุล่วงได้อย่างมีประสิทธิผล ย่อมมิใช่เกิดจากการดำเนินการเพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่เพียงผู้เดียว แต่เกิดจากการที่ทุกฝ่ายให้ความร่วมมือกัน เหมือนเช่นประเทศนอร์เวย์ ที่เป็นประเทศติดทะเล และมีทะเลเป็นแหล่งเศรษฐกิจสำคัญ จึงมีวิธีการจัดการทรัพยากรทางทะเลแบบบูรณาการ ด้วยความร่วมมือจากภาครัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมไปถึงกลุ่มเอกชน กลุ่มประมง สถาบันวิทยาศาสตร์ สถาบันด้านการจัดการต่าง ๆ ซึ่งการที่ทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือกัน ทำให้สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประสบผลสำเร็จ

5.  วัดผล เพื่อพัฒนาปรับปรุงแผนต่อไป

     อีกหนึ่งข้อสำคัญในการดำเนินการเพื่อส่งเสริมแนวคิดเศรษฐกิจ คือการวัดผลการดำเนินงาน เพื่อให้รู้ได้ว่านโยบายหรือข้อปฏิบัติต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินการนั้นมีประสิทธิภาพมากพอ สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุดหรือไม่ เช่น หลังจากมีการให้ความรู้เกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมทางทะเลแก่บุคลากรในหน่วยงานเรียบร้อยแล้ว ก็จะต้องวัดผลต่อไป ว่าพวกเขาได้ตระหนักถึงประเด็นปัญหา แล้วสามารถนำไปปรับใช้กับการทำงานได้จริงหรือไม่ หากยังไม่เป็นผล ก็มุ่งพัฒนาปรับปรุงแผนพัฒนาต่อไป โดยที่ไม่ละทิ้งเป้าประสงค์ในการสร้างความยั่งยืนให้แก่ทรัพยากรทางทะเล

     โดยสรุป “เศรษฐกิจสีน้ำเงิน” เรียกได้ว่ากำลังมาแรงแซงทางโค้ง และเป็นแนวคิดที่สำคัญไม่แพ้แนวทางเศรษฐกิจ “สีเขียว” ที่เราคุ้นเคย ซึ่งแนวทางในการปฏิบัติให้เกิดเป็นผลสำเร็จนั้นก็เริ่มจากการที่หน่วยงานและภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องจะต้องตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมทางทะเลที่กำลังเกิดขึ้น แล้วจึงดำเนินงานวางแผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจสีน้ำเงิน ไม่ว่าจะเป็น การให้ความรู้แก่บุคลากร การใช้เทคโนโลยีเป็นตัวช่วยในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม และการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และวัดผลเพื่อพิสูจน์ว่าแผนพัฒนานั้นได้ผลจริง ช่วยส่งเสริมแนวคิดเศรษฐกิจสีน้ำเงิน อนุรักษ์ทรัพยากรโลกใต้ผืนมหาสมุทรต่อไป 

ที่มา: 

- SEAFDEC

- Beach Lover

- SALIKA

- RESEARCH CAFÉ

- itd

แชร์บทความนี้



บทความอื่นที่คุณอาจสนใจ

ส่องเทรนด์ “Sustaincular” จากทั่วทุกมุมโลก ในงาน Osaka Expo 2025
ส่องเทรนด์ “Sustaincular” จากทั่วทุกมุมโลก ในงาน Osaka Expo 2025
Sport Power Tourism ขับเคลื่อนการท่องเที่ยวด้วย ‘พลังแห่งกีฬา’
Sport Power Tourism ขับเคลื่อนการท่องเที่ยวด้วย ‘พลังแห่งกีฬา’
ทำความรู้จัก 'Longevity Tourism' พร้อมสำรวจ 'Blue Zones' แต่ละแห่งทั่วโลก
ทำความรู้จัก 'Longevity Tourism' พร้อมสำรวจ 'Blue Zones' แต่ละแห่งทั่วโลก

ระบบเรียนออนไลน์

สมาชิก TAT ACADEMY สามารถเข้าถึงข้อมูลการท่องเที่ยวของประเทศไทย เช่น การสัมมนา การท่องเที่ยว กิจกรรม และข่าวสาร สำคัญต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย